call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436
ประเพณีวันสงกรานต์ (บุญปีใหม่ลาว)
หากท่านเป็นคนหนึ่งที่กำลังอยากไปทัวร์ลาว หรือไปเที่ยวลาว สิ่งหนึ่งที่ต้องศึกษาคือประเพณีและวัฒนธรรมของชาวลาว ซึ่งชาวลาวถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่เช่นเดียวกับไทย มีการจัดงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน โดยวันแรกของงานเรียกว่า “วันสังขารล่อง” จะมีพิธีตามประเพณี มีงานบายศรีสู่ขวัญ งานก่อพระธาตุทราย มีการแข่งขันกีฬาพื้นเมืองและจุดบั้งไฟ วันที่สองเรียกว่า “วันสังขารเนา” จะมีการแห่ขบวนของนางสังขาร (เทียบได้กับเทพีสงกรานต์บ้านเรา) และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ชาวลาวถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ จะพากันไปทำบุญตักบาตร ไหว้พระและเฉลิมฉลองกันตามประเพณี
ประเพณีบุญห่อข้าวประดับดิน
จัดขึ้นในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติทั้งหลาย ชาวบ้านจะทำข้าวต้มมัดใส่กล้วยห่อใบตองเพื่อใส่บาตรในตอนเช้ามืด นำอาหารคาวหวาน ผลไม้ บุหรี่ หมาก พลู ใส่ลงในกรวยใบตองไปวางตามพื้นดินหรือใต้ต้นไม้บริเวณรั้วบ้าน รั้ววัด หรือตามทางแยก เพื่อเป็นทานแก่ผีไร้ญาติ ที่ต้องทำพิธีตอนเช้ามืดเพราะมีความเชื่อว่า ผีสางจะได้กินอาหารก่อนแสงแดดส่อง พอรุ่งเช้าชาวบ้านจึงค่อยตักบาตรแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ
ประเพณีบุญบั้งไฟ
จัดขึ้นในช่วงเดือน 6 เป็นประเพณีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาลของชาวลาว โดยการจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนจากพญาแถน ซึ่งเป็นเจ้าแห่งฟ้าฝน และยังเป็นสัญญาณว่าฤดูทำนากำลังจะเริ่มต้นขึ้นด้วย
ประเพณีไหลเรือไฟ
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ในวันนี้ชาวลาวจะตักบาตรเทโว กวนข้าวทิพย์ ถวายผ้าจำนำพรรษาและปราสาทผึ้ง (นำไม้ไผ่มาสานเป็นรูปปราสาท ตกแต่งให้สวยงาม แล้วแห่ไปถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ) แล้วตกค่ำจึงมีการประดิษฐ์เรือประดับไฟล่องไปตามแม่น้ำ
ที่เมืองหลวงพระบางจะมีประเพณีไหลเรือไฟและลอยกระทงในแม่น้ำคาน ส่วนที่เมืองเวียงจันทน์จะมีการ “ส่วงเฮือ” หรือ แข่งเรือพายในตอนกลางคืน โดยชาวลาวจะแข่งกันตกแต่งเรือด้วยเทียน ตะเกียง และใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ขนม เงิน ติดธงอย่างสวยงาม เพื่อเป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเป็นการบูชาพญานาคที่เชื่อกันว่าจะปรากฏในรูปของลูกไฟ (ทางอีสานเราเรียกว่า บั้งไฟพญานาค)
ตำนานการเกิดแม่น้ำโขง
มีตำนานพื้นบ้านกล่าวถึงกำเนิดแม่น้ำโขงหลายตำนาน หนึ่งในนั้นคือ ตำนานคำชะโนด เรื่องมีอยู่ว่า นานมาแล้ว ที่หนองแสมีนาคสองตัว คือ พญาศรีสุทโธและพญาสุวรรณ อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก โดยทั้งสองมีข้อตกลงที่ปฏิบัติกันมานานว่า หากใครออกไปหาอาหาร อีกฝ่ายจะไม่ไป แลเมื่อฝ่ายใดได้อาหารมา ก็จะแบ่งกินกันคนละครึ่ง
วันหนึ่งมีพญาช้างล้มตายที่ท้ายหนอง พญาศรีสุทโธจึงแบ่งเนื้อช้างเป็นสองส่วนเท่าๆ กันให้พญาสุวรรณกินด้วยตามสัญญา ต่อมามีเม่นมาตายที่ท้ายหนอง พญาสุวรรณแบ่งเนื้อเม่นเป็นสองส่วนแล้วส่งไปให้พญาศรีสุทโธตามปกติ แต่พญาศรีสุทโธกินเนื้อเม่นแล้วไม่อิ่ม เหลือบไปเห็นขนเม่นยาวกว่าขนช้าง จึงเข้าใจไปเองว่า ตัวเม่นจะใหญ่กว่าตัวช้าง เหตุใดพญาสุวรรณจึงแบ่งให้ตนนิดเดียว คิดได้ดังนั้นก็โกรธ คิดว่าพญาศรีสุทโธไม่ซื่อสัตย์ จึงเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทนานถึง 7 ปี สร้างความเดือดร้อนให้สัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่แถบนั้น ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาตัดสินความ โดยให้นาคทั้งสองสร้างแม่น้ำจากหนองแสขึ้นมาคนละสาย ใครถึงทะเลก่อนจะได้ปลาบึกลงไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้น โดยเอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้น ใครลุกล้ำขอให้ไฟจากภูเขาพญาไฟเผาไหม้ตาย
เมื่อรับโองการแล้ว พญาศรีสุทโธซึ่งเป็นนาคใจร้อนก็สร้างแม่น้ำมุ่งไปตะวันออก เจอภูเขาขวางตรงไหนก็สร้างแม่น้ำคดโค้งไปตามนั้น แม่น้ำสายนี้ก็คือ แม่น้ำโขง ซึ่งคำว่า “โขง” มาจากคำว่า “โค้ง) นั่นเอง
ส่วนพญาสุวรรณซึ่งเป็นนาคใจเย็นก็สร้างแม่น้ำลงไปทางใต้ โดยพยามสร้างแม่น้ำอย่างพีพิถันเป็นทางตรง แม่น้ำนี้มีชื่อเรียกว่า แม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำที่มีลักษณะตรงกว่าทุกสาย
สุดท้ายพญาศรีสุทโธสร้างแม่น้ำโขงไปถึงทะเลก่อน จึงได้ปลาบึกจากพระอินทร์ไป ซึ่งตรงกับข้อมูลปัจจุบันที่กล่าวว่า ปลาบึกเป็นปลาที่พบได้เฉพาะลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น
การละเล่น-ตีคลี
นิยมเล่นกันในงานประเพณีนมัสการพระธาตุหลวง คือมีการแห่ลูกคลีและแข่งเล่นคลี เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่ครั้งสร้างพระธาตุหลวงขึ้น ถือเป็นกีฬาคู่กับงานบุญนมัสการพระธาตุหลวงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามัคคี โดยจะเป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายประชาชน มีความเชื่อว่า หากฝ่ายรัฐบาลชนะจะทำให้ประชาชนทุกข์ยากไปตลอดปี แต่หากฝ่ายประชาชนชนะ บ้านเมืองก็จะอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร
อุปกรณ์ในการเล่นคลี ได้แก่ ไม้สำหรับตีคลี ซึ่งทำจากตอไม้ไผ่ขนาดความยาว 1 เมตร ส่วนปลายของไม้งอนขึ้นเล็กน้อย (คล้ายไม้ฮอกกี้) ลูกคลีทำจากไม้ทองหลาง มีน้ำหนักเบา กลึงให้กลมขนาดลูกมะนาว โดยปักเสาไว้เป็นประตู แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละ 4-5 คน วิธีการเล่นเหมือนฟุตบอล ฝ่ายใดสามารถตีลูกลงหลุมคลีหรือเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ
การแต่งกาย
หญิง : นุ่งผ้าซิ่นและใส่เสื้อแขนยาวทรงกระบอก
ชาย : มักแต่งกายแบบสากล หรือนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อชั้นนอกกระดุมเจ็ดเม็ด คล้ายเสื้อพระราชทานของไทย