call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436
Bhaktapur
เมื่อท่านมาทัวร์เนปาล แน่นอนเมืองที่ท่านจะต้องมาเที่ยวให้ได้คือ เมืองนั้นก็คือ ภักตะปูร์ (Bhaktapur) 1 ใน 10 แห่งที่องค์การยูเนสโก้ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ที่ตั้งอยู่ในเนปาล ฉะนั้นการพลาดชมเมืองนี้ถือเป็นความผิดที่ไม่สามารถให้อภัยได้ ความลงตัวของสถาปัตยกรรมแบบมัลละ ที่ไม่ได้ถูกบิดเบือนโดยคนรุ่นหลัง แม้เวลาผ่านไปนานเกือบ 1,000 ปี ก็ตาม ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลีวู้ดตัดสินใจใช้เป็นฉากถ่ายหนังเรื่อง “Little Buddha” โดยไม่ต้องสร้างเสริมของใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีกเลย เมืองนี้ถูกสมมุติให้เป็นกรุงกบิลพัสด์ที่มีปราสาท 3 ฤดู ในช่วงก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะละทิ้งมหาสมบัติออกแสวงหาสัจธรรม
ภักตะปูร์อยู่ห่างจากกาฐมาณฑุไปทางตะวันออกราว 16 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ราบ มีพื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร เป็นอาณาจักรโบราณที่มีขนาดเล็กที่สุด อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำหนุมานเต้ ผังเมืองสร้างขึ้นจากรูปหอยสังข์ของพระวิษณุเป็นต้นแบบเมื่อ 1,200 ปี มาแล้วโดยพระเจ้าอานันท์ มัลละ
ทุกราชอาณาจักรในเนปาลจะมีศูนย์กลางเมืองเป็นลานกว้างเรียกกันว่า “จัตุรัสดูร์บาร์ หรือ จัตุรัสราชวัง” เหมือนกันหมด ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของหมู่พระราชวัง วิหาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในศิลปะสกุลช่างฮินดูเนวารีแท้ เป็นบริเวณเขตภายในพระราชสำนักส่วนพระองค์ของกษัตริย์ราชวงศ์ลิจฉวี นอกจากนี้ยังมีจัตุรัสอีก 2 แห่งชื่อ เตาว์มาดี้ (Taumadhi) และตั๊ตตาทรายะ (Dattatraya)
ภักตะปูร์เป็นอดีตราชธานีของหุบเขากาฐมาณฑุ มีความเจริญมากบนเส้นทางการค้าสู่ทิเบตในสมัยโบราณ อบอวลด้วยกลิ่นอายของความดั้งเดิมมากกว่ามาฐมาณฑุและปาทัน ตั้งอยู่ในทำเลที่เข้าถึงยากกว่าอีก 2 นคร ในยุคที่หุบเขากาฐมาณฑุถูกผนึกรวมภายใต้การครองแผ่นดินของราชวงศ์ชาห์แห่งโกรข่าในปี 2311 ภักตะปูร์มีประชากรราว 150,000 ถือเป็นตัวอย่างเมืองโบราณที่ยังมีลมหายใจ เป็นชุมชนที่พึ่งพาตัวเองได้มากที่สุดในหุบเขา และที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ เมื่อเดินเข้าสู่ตัวเมืองจะเห็นได้ว่าสะอาดมาก ชาวบ้านช่วยกันเป็นอย่างดี อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีภายใต้บรรยากาศของอาณาจักรโบราณ เสน่ห์ของเมืองนี้ก็อยู่ที่รูปแบบของวิถีแบบชาวบ้านที่เคลื่อนไหวทับซ้อนอยู่ในอาณาจักรโบราณอย่างกลมกลืน
แม้แต่พระราชวังบางส่วนก็ใช้ประใโยชน์เป็นโรงเรียนอนุบาลและมัธยม เกษตรกรของเมืองนี้สามารถผลิตอาหารจากไร่นารองรับความต้องการของผู้คนในชุมชนได้เพียงพอ ช่างศิลป์มุ่งตกแต่งตัวอาคารบ้านเรือน ศาสนสถานได้อย่างสวยงามประณีต สลักเสลาหน้าต่างด้วยลวดลายแปลกตา
ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมยังคงอยู่ สตรียังคงสวมใส่สาหรี่สีดำเชิงแดง อันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเมืองที่เรียกว่า “ปะตาชี” ทางเข้าสู่เมืองหลังจากซื้อตั๋วผ่านประตู นักท่องเที่ยวเสียคนละ 12 USD แล้ว ประตูทางเข้าเมืองก่อด้วยอิฐสีแดงมีลวดลายดินเผาประดับอยู่ในจุดที่ลงตัว รูปประดับต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าทั้งหลาย รวมไปถึงรูปสัตว์ต่างๆ ในความเชื่อทางศาสนาฮินดูทั้งสิ้นเมื่อก้าวเดินเข้าไปถึงจัตุรัสราชวัง ภาพรวมแห่งราชอาณาจักรโบราณจะปรากฏให้เห็นอย่างแจ่มชัดทันที ประกอบไปด้วยวิหารน้อยตั้งอยู่กระจัดกระจาย รวมทั้งหมู่พระราชวังด้วย หากเปรียบเทียบกับจัตุรัสของกาฐมาณฑุและปาทัน จะเบาบางกว่ามาก