call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436
(Dhammayangyi Temple)
มีความสวยงามเป็นอิฐสีแดงทั้งหลัง มีความยิ่งใหญ่แข็งแรงที่สุดในพุกาม มีชื่อเสียงในการก่ออิฐและการเรียงอิฐที่ประณีตที่สุด อิฐแต่ละก้อนแนบสนิทติดกันจนไม่มีช่องว่าง เกือบมองไม่เห็นรอยต่อระหว่างการก่อสร้าง พระเจ้านราธู (Narathu) จะเสด็จมาตรวจงานทุกวันโดยทรงถือเข็มเล่มหนึ่งตรวจงานการเรียงก่ออิฐ เมื่อเอาเข็มสอด ถ้าพบว่าที่ใดมีรูขนาดให้เข็มเข้าได้ ช่างผู้นั้นจะถูกลงโทษให้นั่งบนไฟและตัดมือ 1 ข้าง พระเจ้านราธูเป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์พุกาม (พ.ศ. 1710-1713) ครองราชย์เพียง 3 ปี มีใจโหดเหี้ยมปลงพระชนม์พระราชบิดาคือ พระเจ้าอลองสิทธู ขณะที่ประชวรอยู่ แล้วขึ้นครองราชย์แทน
วิหารธรรมยางยี แปลว่า “ธรรมอันยิ่งใหญ่” มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กาลักยามิน” หมายถึงวิหารของกษัตริย์ที่ถูกฆ่าโดยพวกกาลาทหารของกษัตริย์ปาเทกคายา (Pateikkaya) แห่งอินเดีย ที่ได้ส่งพระราชธิดามาอภิเษกสมรัสกับพระเจ้านราธู แต่กลับถูกกล่าวหาว่าพระนางเป็นชู้กับทหารที่เดินทางมาด้วย และถูกประหารชีวิต พระเจ้าปาเทกคายาจึงส่งทหารมาลอบสังหารพระเจ้านราธู
แต่ทางวิชาการสันนิษฐานว่า พระเจ้านราธูมีข้อพิพาทกับพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 กษัตริย์แห่งลังกา ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อโปโลนนารุวะ (พ.ศ. 1696-1729) สาเหตุมาจากการค้าขาย พระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 จึงยกทัพมาตีเมืองพุกามและได้สังหารพระเจ้านราธู เป็นเหตุให้วิหารแห่งนี้สร้างไม่เสร็จ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีซุ้มประตูทางเข้า 4 ทิศ ทำให้มีแผนผังคล้ายเครื่องหมายบวก เป็นอาคารชั้นเดียวขนาดใหญ่ มีหลังคาลาดโค้งซ้อนกัน 7 ชั้น ตรงกลางก่ออิฐตัน มีระเบียงทางเดินรอบอาคาร ใช้วัสดุประสานอิฐด้วยยางไม้หรือการเชื่อมติดกัน มีเทคนิคการเรียงอิฐสลับกับหินเป็นระยะๆ เพื่อช่วยให้รับน้ำหนักได้ดีและมีความหยุ่นตัวที่เรียกว่า “เอ็น” ยึดแนวอิฐไว้ สิ่งที่น่าสนใจคือ จิตรกรรมฝาผนัง มีลวดลายเฟื่องอุบะ เขียนด้วยสีเหลือง เทา และดำ เป็นลวดลายเฉพาะของพุกาม
หากท่านได้มาเที่ยวพม่า อย่าลืมแวะมาเยือน วิหารธรรมยางยี กันด้วยะนะคะ