call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436
สัตตมหาปราสาท (Satmahal Prasada) เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมทึบก่อด้วยอิฐซ้อนกันขึ้นไปรวม 7 ชั้น จากชั้นที่ 1 จะมีบันไดแนบกับผนังทิศตะวันตกเดินขึ้นไปยังลานชั้นที่ 2 ได้ แต่ละชั้นมีซุ้มอยู่ตรงกลาง 1 ซุ้ม ภายในซุ้มีรูปเทวดาปูนปั้นยืนอยู่ด้วยในท่าตริภังค์ (เอียงสะโพก) และยกมือขึ้นข้างหนึ่ง สัตตมหาปราสาทแห่งนี้เป็นอาคารที่มีรูปทรงแปลกไปจากที่อื่นและมีเพียงแห่งเดียวในเกาะลังกา แต่ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง เช่น เจดีย์วัดกู่กุด หรือวัดจามเทวี จ.ลำพูน และเจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย บางท่านเชื่อว่า ศรีลังกาอาจจะได้รับอิทธิพลศิลปะทางสถาปัตยกรรมแบบนี้ไปจากไทยก็เป็นได้ และชั้นล่างของสัตตมหาปราสาทนี้ยังมีร่องรอยเดิมของการก่ออิฐเป็นรูป 8 เหลี่ยม แล้วจึงสร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมครอบทับในภายหลัง กรรมวิธีในการก่อสร้างดังกล่าวสามารถที่จะกำหนดได้ว่ามีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 รวมทั้งประติมากรรมในซุ้มขององค์เจดีย์ แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อในศาสนพุทธนิกายมหายาน
โบราณสถานแห่งนี้ยังไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง และมีชื่อเดิมว่าอะไร จึงเรียกชื่อตามรูปร่างลักษณะที่ปรากฏ นักวิชาการบางท่านเห็นว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบนี้คล้ายคลึงกับหอสูงที่เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากแอสซีเรีย (Assyria) และบาบิโลน (Babylon) ลักษณะโดยทั่วไปคือมีรูปทรงซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ หลายชั้นเป็นรูปปิรามิด ชั้นล่างสุดจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ชั้นบนจะค่อยๆ เล็กลงลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับ ลักษณะของสัตตมหาปราสาท สร้างจึ้นตามกฏเกณฑ์ รูปแบบและแผนผังที่ได้กำหนดหรือบังคับไว้ในตำรา ที่เรียกว่า “ศาสตระ” (Sastras) เป็นศาสนสถานที่จำลองภาพเขาพระสุเมรุเป็นชั้นๆ รวม 7 ชั้น เป็นสัญลักษณ์ของจินตนาการเกี่ยวกับลำดับชั้นของของสัณฐานของภูเขาแห่งโลก คล้ายกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมหลายแห่งในศิลปะขอมแบบนครวัด (Angkor Wat) ในประเทศกัมพูชา
อาจจะเป็นไปได้ว่า ศาสนสถานแห่งนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่เคารพบูชาสำหรับทหารรับจ้างจากกัมพูชา ซึ่บงกษัตริย์สิงหลได้จ้างเข้ามาเพื่อปราบกบฏทมิฬ ด้วยรูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกับที่ทหารเหล่านี้เคยชินในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง เป็นอันว่าเสร็จสิ้นการชมลานพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งอยู่ใจกลางของเมืองโปโลนนารุวะ และมีกลุ่มโบราณสถานสำคัญรวม 12 แห่ง ต่อไปเราจะขึ้นรถบัสเดินทางต่อไปทางทิศเหนือไปชม คัลวิหาร (Gal Vihara) แปลว่า วิหารหิน หรือ อารามหิน (Rock Shrine) เดิมชื่อว่า อุตตราราม (Northern Shrine) สร้างโดยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช (King Parakramabahu, พ.ศ. 1696-1729) เป็นสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันแพร่หลาย เป็นวิหารที่สลักบนหน้าผาหินแกรนิต เป็นแนวเดียวกันของภูเขาธรรมชาติ โดยสลักเป็นพระพุทธรูป 4 องค์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน
องค์แรก จากทางด้านทิศใต้ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิมีขนาดใหญ่ ขัดสมาธิราบ ครองจีวรริ้ว เป็นริ้วขนานกันเป็นคู่ๆ ไปที่ฐานของพระพุทธรูปสลักเป็นรูปสิงห์นั่งสลับกับวัชระหรือสายฟ้า รูปสิงห์มีความคลึงกับสิงห์ปูนปั้นบางตัวที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัยมาก) ส่วนทางด้านหลังของพระพุทธรูปสลักเป็นภาพอาคารเลียนแบบเครื่องไม้ มีตัวมังกรและอาคารย่อส่วนขนาดเล็กวางซ้อนกันขึ้นไป
องค์ที่สอง ถัดมาเป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ขัดสมาธิราบเช่นเดียวกัน มีขนาดเล็กกว่าองค์แรก สลักไว้ในถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปภูเขา ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ มีเทวดาอยู่ 2 ข้างสลักบนผนังหินด้านในอยู่หลายรูป รวมทั้งพระนารายณ์และพระพรหม นอกจากนี้ยังมีร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับตกแต่งผนังของถ้ำแห่งนี้ด้วยพระพุทธรูปองค์นี้คงจได้รับอิทธพลจากศิลปะปาละ (พุทธศตวรรษที่14-17) ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย โดยจะสังเกตุได้จากการครองจีวร บัลลังก์ที่มีเครื่องประดับตกแต่งมากมายและพระพุทธรูปประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงายแบบปาละอีกด้วย
ทัวร์อินเดีย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบแสวงบุญ และเดินตามรอยพระพุทธเจ้า และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลแต่ตนเอง
Cr. ข้อมูลจากคุณไพรัตน์ สูงกิจบูลย์