call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436
นัต (ผีหลวง) มีทั้งหมด 37 ตน คำว่า “นัต” มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า “นาทะ” (Natha) หมายถึง “เทวดาผู้ปกป้องรักษา” เมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว ชาวพม่าได้สร้างศาลหรือบ้านเล็กๆ ไว้สักการะบูชานัตแม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นภูตผีปีศาจที่ชั่วร้าย และจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ไม่ให้ความเคารพนับถือ ชาวพม่าจึงกลัวและบูชานัตด้วยการถวายอาหาร ดอกไม้ และเครื่องประดับอยู่สม่ำเสมอ แต่ละหมู่บ้านจะมีภูตผีประจำหมู่บ้าน ประจำต้นไม้ ทุ่งนา มีเทวดาแห่งการเก็บเกี่ยว เทวดาแห่งลมและฝน
ในสมัยพระเจ้าอนุรุทมหาราช (อโนรธามังช่อ) ทรงนำศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ยังไม่สามารถขจัดความเชื่อของชาวพม่าในการบูชาภูติผีต่างๆ ให้หมดไปได้ แม้จะทรงใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีนัตถึง 36 ตนจากนัตต่างๆ จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้นพระองค์จึงทรงเอานัตตนที่ 37 มีนามว่า “ตะจามิน”(พระอินทร์) เข้ามาเป็นกษัตริย์ของนัตทั้ง 36 ตน แล้วอนุญาตผ่อนปรนให้ชาวบ้านนับถือบูชาทั้ง 37 ตนต่อไป โดยถือว่านัตเหล่านี้เป็นสาวก ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย
ตะจามิน (พระอินทร์)
นัตทั้ง 37 ตนที่บูชากันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่นัต 37 ตนที่บูชากันในสมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช เพราะได้มีการนำบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เข้ามาแทนที่นัตตนเดิมถึง 15 ตน นัตทั้ง 37 ตนนี้ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราว ชีวิตอันโศกสลด เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์พม่า ฉะนั้นเรื่องราว ตำนานและนิทานปรัมปราของนัตเหล่านี้ จึงช่วยให้พม่าเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของตนเองได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเชื่อกันอย่างแพร่หลาย ว่านัตเหล่านี้มีอำนาจช่วยรักษาโรคทำนายอนาคตได้โดยผ่านทางโหร หมอดู คนเข้าทรง และหมอผี
นัตจำนวน 22 ตน ที่มีมาก่อนตั้งแต่สมัยอาณาจักรพุกาม ได้แก่
• ตะจามิน (พระอินทร์) เป็นกษัตริย์ของหมู่ทวยเทพ
• งะตินเด หรือ มินมหาคิรีนัต
• ชเวเมี้ยตนา หรือเจ้านางหน้าทอง
• เจ้านางสีข้างทอง
• นางงามสามเวลา
• เจ้านางผิวขลุ่ย
• เจ้าสีน้ำตาลแห่งทิศใต้
• เจ้าสีขาวแห่งทิศเหนือ
• เจ้าฉัตรขาว
• พระมารดาหลวงของเจ้าฉัตรขาว
• เจ้าแห่งปะเยมมา
• เจ้าเทพทองใหญ่
• เจ้าเทพทองน้อย
• ปู่เจ้าแห่งมัณฑะเลย์
• นางขาโก่ง
• ชายชราต้นกล้วยเดี่ยว
• เจ้าสิทธู
• เจ้าชิงช้าหมุน
• เจ้าจ่อส่วยผู้กล้าหาญ
• แม่ทัพใหญ่แห่งอังวะ (อินน์วะ)
• นักเรียนนายทหารหลวง
• เจ้านางทองคำ มารดานักเรียนนายทหารหลวง
ส่วนนัตอีก 15 ตน ที่เข้ามาทดแทนนัตเดิม ที่ยังปรากฏเป็นที่นับถือกันในปัจจุบัน หลังรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา ได้แก่
• เจ้าแห่งช้าง 5 เชือก
• จอมกษัตริย์ เจ้าแห่งความยุติธรรม
• หม่องโปตู
• ราชินีแห่งวังวังตะวันตก
• เจ้าอองปินเล เจ้าแห่งช้างเผือก
• นางตัวงอ
• นอระธาทอง
• เจ้าอองดินผู้กล้าหาญ
• เจ้าขาวน้อย
• เจ้าเณร
• พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
• เจ้านางแห่งทิศเหนือ
• เจ้ามินกาวง์แห่งตองอู (ตาวง์งู)
• ราชเลขาธิการหลวง
• กษัตริย์แห่งเชียงใหม่
พระสงฆ์ พม่าเรียก “โภงจี” (Pongyi) พม่าเป็นประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนเคร่งครัดในพระพุทธศาสนามากที่สุดในโลก ชาวพม่านับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท หรือหินยาน(แปลว่า “ยานเล็ก” ) จะเป็นไปในทางอนุรักษ์นิยม โดยยึดถือหลักการตีความตามเนื้อความในคัมภีร์พระไตรปิฏกอย่างเคร่งครัด ถือว่าบุคคลจะบรรลุถึงพระนิพพานได้ก็ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติธรรมด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีทางอื่นใด จะให้ใครมาช่วยให้บรรลุก็ไม่ได้ ต่างจากนิกายมหายานที่ถือว่าบุคคลจะสามารถบรรลุถึงนิพพานได้ด้วยการช่วยเหลือของพระโพธิสัตว์หรือพระอรหันต์
การแบ่งแยกระหว่างนิกายหินยานกับมหายานมีมาตั้งแต่ 235 ปี ก่อนคริสตกาล หรือ 2249 ปีมาแล้ว ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงประชุมสังคยนาพระไตรปิฏกขึ้นทีเมืองปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย คณะสงฆ์ส่วนใหญ่ให้ยึดหลักตามพระพุทธวัจนะอย่างเคร่งครัด แต่มีส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเคยประทานพุทธานุญาตเอาไว้เมื่อก่อนหน้านี้ ส่วนน้อยนั้นได้แยกตัวออกมาตั้งนิกายมหายานขึ้น และได้แพร่หลายเข้าไปในทิเบต เนปาล จีน เกาหลี มองโกเลีย ญี่ปุ่น และเวียดนามในเวลาต่อมา