call center : 02-756-0335
hotline : 086-3167436
ย้อนรอยสุสานจักรพรรดิ
เที่ยวเวียดนามทริปนี้ ขอนำท่านสู่สถานที่ประวัติศาสตร์สุสานจักรพรรดิ ซึ่งไม่ได้มีไว้ใช้ฝังพระบรมศพของจักรพรรดิเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนของจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ขณะมีชีวิตอยู่ด้วย เรียกว่าพอเบื่อจากวังหลวงก็มักเสด็จมาประทับที่นี่ (น่าจะกึ่งๆ บ้านพักตากอากาศ) เนื่องจากสุสานส่วนใหญ่ตกแต่งเอาไว้อย่างสวยงามร่มรื่น แถมยังมีตำหนักมากมายไม่แพ้วังหลวงของจริงเลยค่ะ (มาจากความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย สุสานคือพระราชวังหลังความตายก็ได้)
ฟังจากไกด์เล่าข้อมูลเบื้อต้นไปแล้ว ลองมาฟังข้อมูลที่เราทำการบ้านมากันบ้างดีกว่า หลังจากที่ไปทัวร์เวียดนามมาหลายครั้ง เริ่มจากสุสานจักรพรรดิราชวงศ์เหงียน มักจะตั้งตามเนินเขาทั้ง 2 ฝั่งริมแม่น้ำหอมทั้งทางทิศใต้และทิศตะวันตก สืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยที่ดั้บอิทธิพลมาจากจีนนั่นเอง (ข้างหน้าเป็นน้ำ ข้างหลังต้องเป็นเขา) และถึงแม้ราชวงศ์เหงียนมีจักรพรรดิทั้งสิ้น 13 พระองค์ ทว่ากลับมีเพียง 7 พระองค์ ที่มีสุสานเป็นของตนเอง นั่นก็เพราะมีข้อกำหนดเฉพาะว่าต้องเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์จนเสด็จสวรรคตเท่านั้น
ส่วนองค์ที่จักรพรรดิที่ขึ้นครองราชย์กระทั่งสวรรคตจนมีสุสานเป็นของตนเอง ก็มีจักรพรรดิซาลอง (Gia Long) , จักรพรรดิมิญมาง (Minh Mang), จักรพรรดิเตียวจิ (Thieu Tri), จักรพรรดิตือดึก (Tu Duc), จักรพรรดิเกียนฟุก (Kien Phuc), จักรพรรดิด่งคัญ (DongKhanh) และจักรพรรดิไคดิญ(Khai Dinh) ซึ่งทุกพระองค์ล้วนถูกฝังพระบรมศพอยู่ในหุบเขาแห่งจักรพรรดินี้ แต่เนื่องจากสงครามและกาลเวลาที่ผ่านไป ปัจจุบันจึงเหลือเพียง 3 สุสาน ที่ยังคงสภาพสวยงามและสมบูรณ์ได้แก่ สุสานจักรพรรดิดิมิญมาง สุสานจักรพรรดิตือดึก สุสานจักรพรรดิดิไคดิญ
สำรวจสุสานจักรพรรดิมิญมาง
นั่งชมวิวสองข้างทางมาได้ประมาณ 1 ชั่วโมง รถบัสโดยสารก็พาชาวคณะทัวร์สหประชาชาติมาจอดหน้าทางเข้าสุสานจักรพรรดิมิญมางที่ใหญ่ที่สุดของราชวงศ์เหงียนเป็นที่แรก โดยหลังจากไกด์แจ้งให้ทราบว่าพวกเรามีเวลาเที่ยวที่นี่ 1 ชั่วโมง ก็เดินนำลูกทัวร์ไปซื้อตั๋วให้คนที่ยังไม่มี สำหรับผู้ที่มีตั๋วแล้วก็แยกย้ายไปชมสินค้าตามร้านต่างๆ และของที่ระลึก
เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักสุสานจักรพรรดิมิญมางกันดีกว่า ว่ากันว่า จักรพรรดิมิญมาง (จักรพรรดิองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์เหงียน โอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิชาลอง) ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างสุสานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1839 ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตในปีถัดมา แต่กว่าที่สุสานจะแล้วเสร็จก็ในปี ค.ศ. 1843 ซึ่งตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเถี่ยวจี องค์รัชทายาทพอดี
สุสานแห่งนี้มีขนาดถึง 40 เฮกเตอร์ ล้อมรอบด้วยกำแพงเน้นหลักฮวงจุ้ยเป็นสำคัญ (ใช้ช่างฝีมือและทหารก่อสร้างเกือบ 10,000 คน เลยทีเดียว) โดยสร้างเป็นแนวเส้นตรงตามแบบแผนราชสำนักจีน ด้านซ้ายและขวาถูกโอบล้อมด้วยทะเลสาบ (มุมสูงมีลักษณะเป็นวงกลม แทนดวงอาทิตย์) ด้านหน้ามีแม่น้ำตา (Ta River) กับแม่น้ำฮืว (Huu River) ที่ไหลรวมกันกลายเป็นแม่น้ำหอม และเพราะที่นี่มีทั้งวัด บ่อตกปลา บ่อล่องเรืออ่านกวี และพระตำหนักอยู่หลายหลัง องค์จักรพรรดิเถี่ยวจีจึงมักแวะมาพักผ่อนและเคารพหลุมพระบรมศพพระราชบิดาที่นี่เสมอ
ส่วนประตูทางเข้าสุสานที่อยู่ใกล้ๆ เป็นประตูทางเข้าหลักได๋ฮง (Dai Hong) ถูกเปิดอกเพียงครั้งเดียว คือตอนที่นำพระบรมศพของจักรพรรดิมิญมางมาฝังไว้ยังสุสานแห่งนี้ ก่อนถูกปิดตายนับแต่นั้นมา นักท่องเที่ยวที่มาชมต้องเข้าทางประตูตาฮง (Ta Hong) ทางด้านซ้าย หรือประตูฮืวฮงที่พวกเราเข้ามาทางด้านขวาเท่านั้น ขณะที่อาคารบีดิญ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามประตูได๋ฮงโดยองค์ชายเถี่ยวจีอยู่ (ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ตัองมีทุกสุสาน และตามประเพณีแล้ว โอรสที่ขึ้นครองราชย์ต่อ ต้องทรงพระอักษรศิลาจารึกนี้ค่ะ
ยืนชมวิวบนนี้ได้สักพัก พวกเราก็เดินลงบันไดทางด้านหลังอาคารบีดิญ เพื่อผ่านประตูเฮียนดิ๊ก (Hien Duc Gate) ไปยังวัดประจำสุสาน (ตรงกลางที่เป็นหินเทาๆ สมัยก่อนใช้เป็นทางเดินขององค์จักรพรรดิค่ะ) โดยด้านซ้ายและขวาเป็นที่ตั้งของวัดฮืวตุง และตาตุง ตามลำดับ สำหรับอุทิศให้ขุนนางที่มีความดีความชอบในรัชสมัยของพระองค์
ตรงกลางคือวัดซุงอัน ที่สร้างให้คนทั่วไปมาไหว้จักรพรรดิมิญมางและมหาเสีหลังสวรรคต ซึ่งตกแต่งด้านในได้อย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นเสาลงรักปิดทองลวดลายมังกรงามแกะสลักตามคานต่างๆ หรือแท่นบูชาของพระองค์ ส่วนป้ายชื่อที่อยู่ทางด้านหลังแท่นบูชาเป็นของขุนนางที่จงรักภักดีต่อองค์พระจักรพรรดิ และพร้อมตามพระองค์ไปรับใช้ในโลกหน้าค่ะ
จบจากนี้ทุกคนก็มุ่งหน้าสู่พระตำหนักมิญ (Minh Pavilion) หรือพระตำหนักแห่งแสงสว่าง (Pavilion of Light) ขนาด 2 ชั้น ซึ่งแรกเริ่มจักรพรรดิมิญมางใช้ทอดพระเนตรการก่อสร้างสุสานค่ะ ต่อมาจักรพรรดิเถี่ยวจีใช้เป็นที่ประทับขณะมาพักผ่อนที่นี่ เนื่องจากบรรยากาศร่มรื่นและห้อมล้อมด้วยพันธุ์ไม้สวยงามหลากชนิด โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม ดอกไม้ในสวนจะแข่งขันออกดอกบานสะพรั่งเลยทีเดียว
เขตพื้นที่สุสานจักรพรรดิมิญมาง
เมื่อเดินทะลุไปด้านหลัง ก็เข้าเขตพื้นที่สุสานจักรพรรดิมิญมาง ซึ่งคั่นด้วยทะเลสาบตันเงวียต หรือ ทะเลสาบจันทร์เสี้ยว ลักษณะครึ่งวงกลมคล้ายพระจันทร์เสี้ยว (หากรวมกับผังสุสานในมุมสูงก็คือ สุริยันจันทราอันมีความหมายตามความเชื่อของชาวจีนว่า รุ่งเรืองและเป็นมงคลนั่นเอง) ส่วนตัวสุสานได้ถูกปิดตายเอาไว้ และมีเรื่องเล่ากันว่า แม้พระบรมศพของพระองค์จะถูกฝังอยู่บนดินด้านใน แต่ก็ไม่มีใครระบุได้ชัดเจนว่าฝังอยู่ส่วนใด เนื่องจากผู้นำพระบรมศพไปฝังในขณะนั้นถูกปลิดชีพทังหมด ตำแหน่งฝังพระบรมศพที่แท้จริงจึงเป็นความลับมาจนถึงทุกวันนี้
เยือนสุสานจักรพรรดิไคดิญ
ถ่ายภาพบรรยากาศรอบๆ ได้สักพักใหญ่ ก็ก็ส่งสัญญาณให้ลูกทัวร์รีบกลับไปขึ้นรถบัสโดยสารหน้าทางเข้า เพราะตอนนี้จวนครบ 1 ชั่วโมง ตามเวลาที่กำหนดแล้ว เมื่อสมาชิกทุกคนประจำที่เรียบร้อย พี่คนขับรถจึงออกเดินทางไปสุสานจักรพรรดิไคดิญ จุดหมายปลายทางต่อไปทันที
กว่าจะเป็นสุสานจักรพรรดิไคดิญ
ระหว่างทางไกด์ก็ได้อธิบายความเป็นมาของสุสานจักรพรรดิไคดิญ บวกกับประวัติเล็กน้อยของพระองค์ให้ลูกทัวร์ฟัง โดยสุสานจักรพรรดิไคดิญ นั้นถือเป็นสุสานหลวงแห่งสุดท้ายของเวียดนาม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์เหงียน ทั้งยังเป็นพระราชบิดา (บุญธรรม) แห่งกษัตริย์เบ๋าได่ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนาม ที่หลังสละราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงย้ายไปประทับและใช้ชีวิตในฝรั่งเศสกระทั่งสวรรคต (สุสานจักรพรรดิไคดิญ จึงกลายเป็นสุสานแห่งสุดท้ายไปโดยปริยาย)
ทั้งนี้มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนสุสานจะสร้างขึ้น จักรพรรดิไคดิญทรงตระเวนหาทำเลดีๆ เพื่อให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ยที่ทรงยืดถือ กระทั่งมาเจอสุสานของชาวบ้าน (จุดนี้ล่ะค่ะ) ที่ดีงามมากๆ หากพระบรมศพได้ประทับอยู่ที่นี่ คงส่งให้ดวงพระวิญญาณสู่สุคติและลูกหลานก็อยู่เย็นเป็นสุข ว่าแล้วพระองค์เลยมีพระบรมราชโองการให้ทหารขุดย้ายสุสานทั้งหมดออกไป ส่งผลให้ชาวบ้านไม่พอใจอย่างยิ่ง สุสานนี้เลยได้ชื่อว่าเป็นสุสานที่สร้างขึ้นบนความเกลียดชังของประชาชนค่ะ
การสร้างสุสานครั้งนี้ พระองค์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่เก็บพระบรมศพอย่างเดียว (เสร็จในปี ค.ศ. 1931) ส่วนหนึ่งคงเพราะช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ภาระหน้าของจักรพรรดิ์ไคดิญถูกลดลง(ไม่มีพระราชอำนาจ) พระองค์จึงหันมาทุ่มเทให้กับการแบบและสร้างสุสานแห่งนี้อย่างเต็มที่